น้องเพลินพาเที่ยววัดพระธาตุลำปางหลวง
น้องเพลินพาเที่ยววัดพระธาตุลำปางหลวง วัดคู่บ้านคู่เมืองลำปางมาแต่โบราณ และภายในวัดยังมีสิ่งที่เป็นอันซีน (Unseen) ได้แก่เงาพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งเกิดจากการหักเหของแสง ว่าแล้วเราตามน้องเพลินไปเที่ยวกัน
รวมสถานที่ท่องเที่ยวของประเทศไทย
ที่เทียวจังหวัดลำปาง
ค้นหาที่เที่ยว
วัดพระธาตุลำปางหลวง
-
วัดคู่บ้านคู่เมืองลำปางมาแต่โบราณ
ที่อยู่วัดพระธาตุลำปางหลวง
ตั้งอยู่ในเขตตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง🏩 จองที่พักจังหวัดลำปาง
สิ่งน่าสนใจวัดพระธาตุลำปางหลวง
- สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายวัดพระธาตุลำปางหลวง
- สักการะพระธาตุลำปางหลวงสำหรับคนที่เกิดปีฉลู
- ชมความงดงามของสถาปัตยกรรมล้านนา
- ชมเงาพระธาตุลำปางหลวง (Unseen)
การเดินทางไปวัดพระธาตุลำปางหลวง
ค่าพิกัดโดยประมาณวัดพระธาตุลำปางหลวง (คลิกลิงค์เปิดโดย Google Map) : 🔗 18.217549, 99.389698
จากถนนหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) เลี้ยวเข้าสู่ถนนหมายเลข 1034 สายเกาะคา-ห้างฉัตร วิ่งตรงมาเจอสามแยกให้เลี้ยวขวาไปทางห้างฉัตร ไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตรจะเจอทางแยกซ้ายมือเข้าสู่เทศบาลตำบลลำปางหลวงวิ่งไปอีก 1.2 กิโลเมตร วัดพระธาตุลำปางหลวงอยู่ทางขวามือ
แผนที่ไปวัดพระธาตุลำปางหลวง
วัดพระธาตุลำปางหลวง
-
วัดคู่บ้านคู่เมืองลำปางมาแต่โบราณ
วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นโบราณสถานสำคัญ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณซากเมืองโบราณลัมพกัปปะนคร ตามตำนานกล่าวว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระเถระสามองค์ได้เสด็จจาริกไปตามบ้านเมืองต่าง ๆ จนถึงบ้านลัมภะการีวัน (บ้านลำปางหลวง) พระพุทธเจ้าได้ประทับเหนือดอยม่อนน้อย มีชาวลัวะคนหนึ่งชื่อ ลัวะอ้ายกอน เกิดความเลื่อมใส ได้นำน้ำผึ้งบรรจุกระบอกไม้ป้างมะพร้าว และมะตูมมาถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้ฉันน้ำผึ้งแล้วทิ้งกระบอกไม้ป้างไปทางทิศเหนือ แล้วทรงพยากรณ์ว่า สถานที่แห่งนี้ต่อไปจะมีชื่อว่า ลัมพกัปปะนคร แล้วได้ทรงลูบพระเศียร ได้พระเกศามาหนึ่งเส้น มอบให้แก่ลัวะอ้ายกอน หลังจากนั้นลัวะอ้ายกอนได้นำพระเกศาไปบรรจุในผอบทองคำ และใส่ลงในอุโมงค์พร้อมกับถวาย แก้ว แหวน เงิน ทอง เป็นเครื่องบูชา แล้วแต่งยนต์ผัด (ยนต์หมุน) รักษาไว้ และถมดินให้เรียบเสมอกัน และก่อเป็นพระเจดีย์สูงเจ็ดศอกเหนืออุโมงค์นั้น ในสมัยต่อมาก็ได้มีกษัตริย์เจ้าผู้ครองนครลำปางอีกหลายพระองค์ มาก่อสร้างและบูรณะซ่อมแซม จนกระทั่งเป็นวัดที่มีความงามอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันในทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของวัดพระธาตุลำปางหลวง เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๗๕ นครลำปางว่างจากผู้ครองนคร และเกิดความวุ่นวายขึ้น สมัยนั้นพม่าเรืองอำนาจได้แผ่อิทธิพลปกครองอาณาจักรล้านนาไว้ได้ทั้งหมด พม่าได้ยึดครองนครเชียงใหม่ ลำพูน โดยแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์พม่า ท้าวมหายศ เจ้าผู้ครองนครลำพูนได้ยกกำลังมายึดนครลำปาง โดยได้มาตั้งค่ายอยู่ภายในวัดพระธาตุลำปางหลวง ครั้งนั้น ” เจ้าทิพย์ช้าง “ เจ้าผู้ครองเขลางค์นคร หรือนครลำปาง เมื่อครั้งนั้นเป็นเพียงแค่พรานป่าชื่อ หนานทิพย์ช้าง ชาวบ้านปงยางคก (ปัจจุบันอยู่อำเภอห้างฉัตร) ซึ่งเป็นวีรบุรุษของชาวลำปาง ได้รวบรวมพลทำการต่อสู้ทัพเจ้ามหายศ โดยลอบเข้ามาในวัด และใช้ปืนยิงท้าวมหายศตาย แล้วตีทัพลำพูนแตกพ่ายไป ปัจจุบันยังปรากฏรอยลูกปืนอยู่บนรั้วทองเหลืองที่ล้อมองค์พระธาตุเจดีย์ ต่อมาหนานทิพย์ช้างได้รับสถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้าทิพย์จักรสุละวะฤๅไชยสงคราม หรือ เจ้าทิพย์ช้าง เจ้าผู้ครองนครลำปาง และเป็นต้นตระกูล ณ ลำปาง, ณ เชียงใหม่, ณ ลำพูน และเชื้อเจ็ดตน
รอยกระสุนปืน ของหนานทิพย์ช้าง วีรบุรุษแห่งนครลำปาง พ.ศ. ๒๒๗๕ หนานทิพย์ช้าง ต้นตระกูล ณ ลำปาง, ณ ลำพูน , ณ เชียงใหม่ และเชื้อเจ็ดตน ยิงท้าวมหายศ แม่ทัพเมืองลำพูน ซึ่งเป็นเมืองของพม่าตายลูกปืนถูกรั้วทองเหลืองตามรอยที่เห็น
หลังจากทราบข้อมูลและประวัติศาสตร์ที่สำคัญของวัดพระธาตุลำปางหลวงแล้ว (ขอขอบคุณข้อมูลจาก wikipedia.org ) เรามาชมสถาปัตยกรรมที่งดงามของวัดพระธาตุลำปางหลวง และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายวัดพระธาตุลำปางหลวง
ประตูโขง เป็นฝีมือช่างหลวงโบราณที่สวยงามก่ออิฐถือปูนทำเป็นซุ้มยอดแหลมเป็นชั้น ๆ มีสี่ทิศ ประดับตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น รูปดอกไม้ และสัตว์ในหิมพานต์ ประตูโขงแห่งนี้ใช้เป็นสัญลักษณ์เมืองลำปางในตราจังหวัดลำปาง
วิหารหลวง เป็นวิหารประธานของวัด ตั้งอยู่บนแนวเดียวกับประตูโขง และองค์พระธาตุเจดีย์ เป็นวิหารจั่วรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทรงวิหารโล่งตามแบบล้านนายุคแรก หลังคาจั่วซ้อนกันเป็นชั้น ๆ
โถงวิหารโล่งตามแบบสถาปัตยกรรมล้านนายุคแรก โดยใช้ไม้สักขนาดใหญ่เป็นโครงสร้าง
ภายในวิหารหลวง เป็นที่ประดิษฐ์ฐาน พระเจ้าล้านทอง พระพุทธรูปองค์สำคัญของวัด ซึ่งอยู่ภายในมณฑป หรือ กู่พระเจ้าล้านทอง กับเจดีย์สีทองอร่ามทรงปราสาทที่สร้างอย่างสวยงาม
พระเจ้าล้านทอง ซึ่งประดิษฐ์ฐานอยู่ภายในมณฑป หรือ กู่พระเจ้าล้านทอง กับเจดีย์สีทองอร่าม
องค์พระธาตุเจดีย์ลำปางหลวง เป็นเจดีย์ทรงล้านนา ก่ออิฐถือปูน ประกอบด้วยฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมด้วยบัวมาลัยสามชั้น เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่หุ้มด้วยแผ่นทองเหลือง ฉลุลายหรือที่เรียกว่าทองจังโก ตามตำนานกล่าวว่าเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
การสักการะ
ต้้งนะโม 3 จบ
ยาปาตุภูตา อะตุลานุภาวา จีรัง ปะติฏฐา ลัมภะกัปปะปุเร เทเวนะ คุตตา อุตตะราภิธัยยา นะมามิ หันตัง วะระชินะธาตุง
กุมาระ กัสสะปะ นะราตะธาตุโย เมฆิยะมะหาเถโร กะนะธาตุง ฐะเปติ มะหาฐาเน เจติยัง ปูชิตา นะระเทเวหิ
อะหัง วันทามิ ธาตุโย
พระธาตุลำปางหลวงถือเป็นพระธาตุประจำปีฉลู เนื่องจากสร้างปีฉลูและเสร็จในปีฉลู ภายในวัดมีเครื่องสักการะสำหรับคนเกิดปีฉลูวิหารพระพุทธ สร้างขึ้นคู่กับวิหารน้ำแต้ม สันนิษฐานว่าเดิมคงเป็นวิหารโล่ง ได้มีการบูรณะซ่อมแซมภายหลัง ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะ และส่วนสัดที่งดงามมาก
วิหารพระพุทธเป็นวิหารทิศ ตามจักรวาลคติ มีองค์พระธาตุเจดีย์เป็นศูนย์กลาง สร้างขึ้นเป็นวิหารหลังแรกของวัดในปีพ.ศ. 2019 สมัยของพระเจ้าติโลกราช เดิมเป็นวิหารโถงมีฝาย้อยคอยกันแดดและฝน โครงสร้างภายในใช้วิธีการรับน้ำหนักของเครื่องบนแบบขื่อม้าต่างไหมซึ่งเป็นแนวคิดของช่างล้านนา ไม่ปรากฏในพื้นที่อื่นและมีเสาหลวง 10 ต้นแบ่งพื้นที่ภายในเป็น 5 ห้องเมื่อมีการบูรณะในปีพ.ศ. 2345 ได้มีการก่ออิฐขึ้นมาเป็นฝาปิดทึบตามแนวเดียวกับฝาย้อยและกั้นปิดห้องแรกเพิ่มซุ้มประตูขึ้นมา พระประธานในวิหารเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง ปางมารวิชัย ศิลปะแบบสุโขทัย ส่วนที่สวยงามที่สุดของวิหารหลังนี้น่าจะเป็นลายคำ ที่ช่างสมัยนั้นบรรจงสร้างสรรค์ตกแต่งวิหารให้สวยงาม มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น เป็นวิหารลายคำ 1 ใน 3 หลังของวัดพระธาตุลำปางหลวง ลายคำที่เสาหลวงมีร่องรอยของการบูรณะมาแล้วซึงน่าจะทำในคราวเดียวกับการกั้นฝาวิหาร
และวิหารพระพุทธยังปรากฏเงาพระธาตุกลับหัวภายในวิหารอีกด้วย ซึ่งบริเวณนี้สามารถชมได้ทุกเพศทุกวัย
ภายในหอพระพุทธสามารถชมปรากฏการณ์เงาพระธาตุและพระวิหารในด้านมุมกลับที่ถือว่าอันซีน(Unseen)ของวัดพระธาตุลำปางหลวงและของจังหวัดลำปาง แต่มีข้อห้ามที่ไม่ให้ผู้หญิงขึ้น
สำหรับการชมปรากฏการณ์เงาพระธาตุลำปางหลวงสามารถชมได้อีกจุดที่วิหารพระพุทธ ซึ่งบริเวณนี้สามารถชมได้ทุกเพศทุกวัย
วิหารน้ำแต้ม เป็นวิหารบริวารตั้งอยู่ทางทิศเหนือขององค์พระธาตุเจดีย์ เป็นวิหารเครื่องไม้สี่เหลี่ยมผืนผ้า รูปร่างและสัดส่วนงดงาม ภายในคอสองมีภาพเขียนสีโบราณที่เก่าแก่ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริด
กุฏิพระแก้ว เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างเมื่อใด แต่ประมาณอายุไม่ต่ำกว่า ๔๐๐ ปี มาแล้ว
วิหารพระเจ้าศิลา เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าศิลาซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงละโว้ เมื่อ พ.ศ. ๑๒๗๕ พระบิดาของพระนางจามเทวีมอบให้ประดิษฐานไว้ ณ ที่นี้
พิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุลำปางหลวง มีอาคารที่จัดแสดงข้าวของสำคัญของวัดทั้งหมด 3 หลัง
อาคารหลังแรกเป็นอาคารชั้นเดียว ภายในจัดแสดงงานสถาปัตยกรรมไม้แกะหลัก เครื่องไม้จำหลัก สัตตภัณฑ์ อาสนะ
อาคารหลังที่สองหรือหอพระแก้ว เคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วดอนเต้า โถงด้านในสุดเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วดอนเต้าองค์จำลอง พร้อมแท่นบูชาที่มีผู้คนมาสักการะ ด้านข้างจัดแสดงข้าวของต่าง ๆ ที่จัดวางไว้ในตู้กระจก อาทิ ลายพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงเสด็จเยี่ยมพิพิธภัณฑ์ในปี 2507 มูยา(กล้องสูบยาดินเผา) ยอย(ตาชั่ง) เป้ง ตุล(เครื่องชั่ง) เชิงเทียน กำไล เต้าปูน เครื่องทองเหลือง เครื่องเคลือบ
อาคารหลังที่สาม เป็นอาคารคอนกรีตชั้นเดียว โถงตรงกลางเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วดอนเต้าองค์จำลอง ผนังด้านข้างทั้งสองด้านเป็นตู้กระจก ภายในจัดแสดง เครื่องแต่งตัวม้า กังสดาลศิลปะล้านนาอายุ 50-100ปี เศษเครื่องปูนปั้นประดับ พางลางเครื่องทำให้เกิดเสียงใช้แต่งบนหลังวัวม้า เชี่ยนหมาก เครื่องเขินศิลปะล้านนาแบบเมืองเชียงใหม่และแบบพม่า แอ๊บยา(กล่องใส่ยาเส้น) พิณเปี๊ยะ เครื่องเบญจรงค์ น้ำต้น(คนโท) ดาบ กล้องสูบยา คัมภีร์จารึกอักษรล้านนา จ.ศ.1078-1182 พระพุทธรูปไม้ พระพิมพ์ เป็นต้น
บันไดทางขึ้นด้านหน้าออกแบบเป็นรูปมกรคายพญานาคทั้งสองข้างบันได เชิงบันไดมีรูปสิงห์ปูนปั้นขนาดใหญ่สองตัว สร้างในสมัยพระเจ้าดวงทิพย์ เจ้าผู้ครองนครลำปาง เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๒๓๓๑
นั่งรถมาเที่ยวโดยบริเวณใกล้ๆ วัดพระธาตุลำปางหลวงมีคิวรถม้าคอยให้บริการอยู่
ถ่ายรูปคู่กับรถมา
ก่อนกลับซื้อสินค้าเซรามิกไปเป็นที่ระลึกบริเวณวัดพระธาตุลำปางหลวง
👀 น้องเพลินพาเที่ยว
ที่เทียวจังหวัดลำปาง
น้องเพลินพาเที่ยววัดพระธาตุลำปางหลวง
Reviewed by ที่เที่ยว
on
20:51:00
Rating:
ไม่มีความคิดเห็น: