Top Ad unit 728 × 90

ชมความงามพระราชวังบางปะอิน

เที่ยวชมความงามพระราชวังบางปะอิน



 รวมสถานที่ท่องเที่ยวของประเทศไทย


 อยุธยา

  ที่เที่ยว ท่องเที่ยว
  ที่กิน ร้านอาหาร
  ที่พัก ที่นอน

 ค้นหาที่เที่ยว




พระราชวังบางปะอิน :

อำเภอปางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดทุกวัน เวลา 8.00 - 15.30 น. (ไม่เว้นวันหยุดราชการ) การเข้าชมโปรดแต่งกายสุภาพ


สิ่งน่าสนใจ :

๑. เขตพระราชวังชั้นนอก หอเหมมณเฑียรเทวราช สภาคารราชประยูร พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน
๒. พระราชฐานชั้นใน พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ หอวิฑูรทัศนา


แผนที่และการเดินทางไปพระราชวังบางปะอิน :


ค่าพิกัดพระราชวังบางปะอินโดยประมาณ : 14.230020, 100.577669

รถยนต์ :
เส้นทางจากกรุงเทพฯ :

1. จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นถนนกาญจนาภิเษก ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 กรุงเทพฝั่งตะวันตก (วงแหวนรอบนอก) ตรงมาผ่านทางด่วนสายอุดรรัถยา บางปะอิน-ปากเกร็ด มาบรรจบ ให้ชิดช้ายมือจะมีป้ายเลี้ยวช้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 347 ถนนปทุมธานี-บางปะหัน ขับมาประมาณ 4 กิโลเมตรจะเห็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาให้กลับรถใต้สะพานแล้วเลี้ยวช้ายหลังจากกลับรถเข้าทางหลวงหมายเลข 3309 ไปยังศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ขับไปตามเส้นทางมีป้ายบอกทางไปพระราชวังบางปะอิน ตามเส้นทางชมบรรยากาศถนนสองข้างทาง

2. จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นถนนพหลโยธิน เมื่อถึงประตูน้ำพระอินทร์แล้วให้ข้ามสะพานต่างระดับบางปะอิน จะพบกับทางแยก ให้ท่านเลี้ยวซ้าย ขับตรงไปผ่านหน้า นิคมฯบางปะอิน ผ่านสี่แยกไฟแดงให้เลี้ยวซ้าย ไปพระราชวังบางปะอินเป็นระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร

เส้นทางจากตัวเมืองอยุธยา :
จากตัวเมืองอยุธยา หากท่านขับรถมาจากถนนสายเอเชียเพื่อเข้าตัวเมือง เมื่อถึงเจดีย์วัดสามปลื้ม (เจดีย์กลางถนน) ให้เลี้ยวซ้าย โดยผ่านวัดใหญ่ชัยมงคล วัดพนัญเชิง มาถึงตัวอำเภอบางปะอิน พอผ่านสถานีรถไฟบางปะอินแล้วให้เลี้ยวขวาไปตามเส้นทางจนถึงพระราชวังบางปะอิน




ข้อมูลท่องเที่ยวพระราชวังบางปะอิน

พระราชวังบางปะอิน  เป็นพระราชวังโบราณตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง   ใช้เป็นสถานที่ที่ทรงใช้ประทับแรม ของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา
ประวัติความเป็นมา
พระราชวังบางปะอิน มีประวัติความเป็นมาตามพระราชพงศาวดารครั้งกรุงศรีอยุธยาว่า พระเจ้าปราสาททอง หรือพระศรีสรรเพ็ชญ์ที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังแห่งนี้ขึ้นบนเกาะบ้านเลน ในลำแม่น้ำเจ้าพระยา

ตามพระราชพงศาวดารกล่างว่า พระเจ้าปราสาททองเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเอกาทศรถประสูติแต่หญิงสาวชาวบ้าน ซึ่งพระองค์ทรงพบเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งแล้วเกิดล่มลงตรงเกาะบางปะอิน เมื่อพระเจ้าปราสาททองทรงขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. ๒๑๗๓ แล้วต่อมาในปี พ.ศ. ๒๑๗๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดขึ้นบนเกาะบางปะอิน ตรงบริเวณเคหสถานเดิมของพระมารดา พระราชทานชื่อว่า "วัดชุมพลนิกายาราม" และให้ขุดสระน้ำสร้างพระราชนิเวศน์สถานขึ้นกลางเกาะ เป็นที่สำหรับเสด็จประพาส แล้วสร้างพระที่นั่งองค์หนึ่งขึ้นริมสระน้ำนั้น พระราชทานนามว่า "พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์" พระราชวังแห่งนี้คงเป็นที่ประพาสสำราญพระราชหฤทัยของพระเจ้าแผ่นดินในสมัยกรุงศรีอยุธยาตลอดมา แต่ต่อมาเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ พระราชวังถูกปล่อยทิ้งให้รกร้าง ทรุดโทรม ขาดการดูแล

พระราชวังบางปะอินได้รับการบูรณะฟื้นฟูขึ้นอีกครังในสมัยรัชการที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งองค์หนึ่งสำหรับเป็นที่ประทับ มีเรือนแถวสำหรับฝ่ายในและมีผลับพลาริมน้ำ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ ๕ ทรงโปรดที่จะเสด็จประพาสพระราชวังบางปะอินอยู่เสมอ ด้วยทรงปรารภว่าเป็นเกาะกลางน้ำที่เงียบสงบ ร่มรื่น และเคยเป็นที่ประทับ ประภาสของสมเด็จพระบรมชนกนาถมาก่อน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ขึ้น ดังที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน
เขตพระราชวังชั้นนอก พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน
พระราชวังบางปะอินแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ เขตพระราชฐานชั้นนอก และ เขตพระราชฐานชั้นใน เขตพระราชฐานชั้นนอกประกอบด้วยพระที่นั่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้สำหรับการออกมหาสมาคม และพระราชพิธีต่างๆ
หอเหมมณเฑียรเทวราช
หอเหมมณเฑียรเทวราช เป็นปรางค์ศิลาจำลองแบบจากปรางค์ขอม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ เพื่อทรงอุทิศถวายแด่พระเจ้าปราสาททองกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระรูปฉลองพระองค์สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง





กระโจมแตร
กระโจมแตร เป็นกระโจมที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ โปรดให้สร้างกระโจมเป็นทรงแปดเหลี่ยมลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบเยอรมัน ซึ่งเป็นที่นิยมกันในปลายศตวรรษที่ ๑๙ กระโจมหลังนี้กลายเป็นสถานที่โปรดของรัชกาลที่ ๖ เพราะข้าราชบริพารทั้งหลายมักจะเห็นพระองค์ทรงงานอยู่ที่กระโจมหลังงามนี้ และมีบทพระราชนิพนธ์ที่สำคัญๆ มากมายที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ภายใต้กระโจมหลังนี้ นอกจากนี้ยังใช้เป็นที่สังสรรค์กัน และจิบชา โดยมีวงดนตรีบรรเลงขับกล่อมแขกผู้มีเกียรติ ภายในพระราชวัง

ตามเส้นทางมีรูปปั้นศิลปะแบบตะวันตกประดับอย่างสวยงาม ซึ่งเป็นที่โปรดปรานงานศิลปะแบบตะวันตกทั้ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ และ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖


พระราชฐานชั้นใน  - พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ หอวิฑูรทัศนา

สะพานที่เห็นเชื่อมจากพระที่นั่งวโรภาษพิมานกับประตูเทวราชครรไลซึ่งเป็นประตูทางเข้าพระราชฐานชั้นใน สะพานนี้มีลักษณะพิเศษคือ มีแนวฉากคล้ายบานเกล็ดกั้นกลางตลอดแนวสะพาน เพื่อแบ่งเป็นทางเดินของฝ่ายหน้าด้านหนึ่ง และฝ่ายในอีกด้านหนึ่งซึ่งฝ่ายใน สามารถมองลอดออกมาโดยตัวเองไม่ถูกสังเกตเห็น
พระที่นั่งวโรภาษพิมาน
พระที่นั่งวโรภาษพิมาน อยู่ทางตอนเหนือของ “สะพานเสด็จ” รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๙ เดิมเป็นเรือนไม้สองชั้นใช้เป็นที่ตั้งประทับและท้องพระโรงร่วมกันต่อมาโปรดเกล้าฯให้รื้อสร้างใหม่ตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก ก่อด้วยอิฐ ทรงวิหารกรีกแบบคอรินเธียรออร์เดอร์ มีมุขตอนหน้า ใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกขุนนางในงานพระราชพิธี และเคยเป็นที่รับรองแขกเมืองหลายครั้ง -ภายในพระที่นั่งวโรภาษพิมาน สามารถเข้าชมได้แต่ไม่อนุญาติให้ถ่ายรูปค่ะ



อาคารพิพิธภัณฑ์รถม้าพระที่นั่ง - จัดแสดงรถม้าพระที่นั่งแบบต่างๆ ที่ใช้ในสมัยรัชกาลที่ ๕


ออกจากอาคารพิพิธภัณฑ์รถม้าพระที่นั่ง ใกล้ๆ กันริมสระน้ำ ไปชม เก๋งบุปผาประพาส อยู่ในสระน้ำ

จุดท่องเที่ยวพระราชวังจุดต่อไปได้แก่ พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ หอวิฑูรทัศนา และตำหนักเจ้านายฝ่ายใน


หอวิฑูรทัศนา
จุดชมวิวมุมสูง ลมเย็นๆ บนหอวิฑูรทัศนา สามารถชมวิวสวยๆ ในพระราชวังบางปะอิน เป็นหอสูง ๓ ชั้น มีบันไดเวียน สร้างในรัชการที่ ๕




หอวิฑูรทัศนา เป็นพระที่นั่งหอสูงยอดมน ตั้งอยู่กลางเกาะน้อยในสวนเขตพระราชวังชั้นใน ระหว่างพระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรกับพระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ เป็นพระที่นั่ง ๓ ชั้น มีบันไดเวียน เป็นหอส่องกล้องชมภูมิประเทศบ้านเมืองโดยรอบ สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๔

ชมวิวมุมสูง 360 องศา ที่หอวิฑูรทัศนา
วิวมุมสูงพระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ พระที่นั่งองค์นี้มีนามเป็นภาษาจีนว่า “เทียน เม่ง เต้ย”

พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ

สร้างโดยพระยาโชดึกราชเศรษฐี(ฟัก) เป็นนายงานสร้างถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ.๒๔๓๒ เพื่อเป็นพระที่นั่งสำหรับประทับในฤดูหนาว พระที่นั่งนี้เคยใช้เป็นที่รับรองเจ้านายต่างประเทศในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนมีลวดลายแกะสลักงดงามวิจิตรยิ่ง โถงด้านหน้าปูด้วยกระเบื้องแบบกังไสเขียนด้วยมือทุกชิ้น

พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ นี้มีนามเป็นภาษาจีนว่า “เทียน เม่ง เต้ย”
เทียน มีความหมายภาษาไทย "เวหา"
เม่ง มีความหมายภาษาไทย "จำรูญ"
เต้ย มีความหมายภาษาไทย"พระที่นั่ง"


พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ เปิดให้ชมเฉพาะภายนอกค่ะ แค่ภายนอกก็งดงามแล้วค่ะ

พระตำหนัก พระราชชายา เจ้าดารารัศมี
ตำหนักที่ประทับของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ทรงเป็นพระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระตำหนักไม้ยกพื้นชั้นเดียว ตัวอาคารทาสีเขียว ด้านในตำหนักทาสีขาว มีห้องบรรทม 2 ห้องมีห้องสรงอยู่ภายใน ห้องสำราญพระอิริยาบถ 1 ห้อง ห้องพระเครื่องต้น 1 ห้อง โดยทุกห้องสามารถเปิดถึงกันหมด มีทางขึ้นตำหนักด้านหน้า 1 ทางและด้านหลัง 1 ทาง

ใกล้ๆ พระตำหนัก พระราชชายา เจ้าดารารัศมี เดินไปอีกนิดก็จะเป็น ตำหนักเก้าห้อง

ตำหนักเก้าห้อง

ตำหนักเก้าห้อง เป็นตำหนักที่ประทับของพระบรมวงศ์ฝ่ายใน ที่ตามเสด็จฯ คราวแปรพระราชฐานมาประทับที่พระราชวังบางปะอิน โดยมีสถาปัตยกรรมแบบยุโรป ก่ออิฐถือปูน มี 2 ชั้น มี 3 มุข ได้แก่ มุขข้าง 2 ด้าน และมุขกลาง (คล้ายรูปตัว E) ผนังระหว่างเสาชั้นล่างเป็นวงโค้ง และชั้นบนเป็นช่องสี่เหลี่ยมมีการประดับด้วยไม้ฉลุลาดขนมปังขิง มีทางขึ้นตำหนัก 5 ทาง ด้านหน้าตำหนัก 3 ทาง และระเบียงหลัง 2 ทาง
ตำหนักเก้าห้อง ตั้งอยู่ระหว่างตำหนักพระราชชายา เจ้าดารารัศมีและพระตำหนักพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ปัจจุบัน ใช้เป็นที่พักของนายทหารของศูนย์รักษาความปลอดภัยตั้งแต่ยศพันตรีขึ้นไป
อนุสาวรีย์ราชานุสรณ์

อนุสาวรีย์ราชานุสรณ์ เป็นอนุสาวรีย์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาฯ โปรดเกล้าให้สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงพระอัครชายาเธอ 1 พระองค์ พระราชโอรส 2 พระองค์ และพระราชธิดา 1 พระองค์ ที่สิ้นพระชนม์ในปีเดียวกัน ได้แก่

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2430
พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2430
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2430
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าตรีเพ็ชรุตม์ธำรง สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2430
อนุสาวรีย์ราชานุสรณ์ ตั้งอยู่ด้านตะวันออกของพระราชวังบางปะอิน อยู่ใกล้กับอนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ สร้างด้วยหินอ่อน แต่ละด้านของอนุสาวรีย์ประดับด้วยพระรูปเหมือนแกะสลักด้วยหินอ่อนของทั้ง 4 พระองค์

ชมความงามพระราชวังบางปะอิน Reviewed by ที่เที่ยว on 17:31:00 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

All Rights Reserved by ที่เที่ยวบล็อก © 2014
Powered By Blogger

ฟอร์มรายชื่อติดต่อ

ชื่อ

อีเมล *

ข้อความ *

รูปภาพธีมโดย cmisje. ขับเคลื่อนโดย Blogger.