Top Ad unit 728 × 90

พระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง

วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองลำปางมาแต่โบราณ และภายในวัดยังคงความสมบูรณ์ของสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่ อาทิเช่น วิหารหลวง ภายในโถงวิหารโล่งตามแบบสถาปัตยกรรมล้านนายุคแรก โดยใช้ไม้สักขนาดใหญ่เป็นโครงสร้าง มีหลังคาทรงจั่วซ้อนกันเป็นชั้นๆ  และเป็นที่ประดิษฐ์ฐาน “พระเจ้าล้านทอง” องค์พระประธานประจำวิหารหลวง


 รวมสถานที่ท่องเที่ยวของประเทศไทย




 ที่เทียวจังหวัดลำปาง



 ค้นหาที่เที่ยว






วัดพระธาตุลำปางหลวง

- วัดคู่บ้านคู่เมืองลำปางมาแต่โบราณ

ที่อยู่วัดพระธาตุลำปางหลวง

ตั้งอยู่ในเขตตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง

สิ่งน่าสนใจวัดพระธาตุลำปางหลวง

  1. สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายวัดพระธาตุลำปางหลวง
  2. สักการะพระธาตุลำปางหลวงสำหรับคนที่เกิดปีฉลู
  3. ชมความงดงามของสถาปัตยกรรมล้านนา
  4. ชมเงาพระธาตุลำปางหลวง (Unseen)

การเดินทางไปวัดพระธาตุลำปางหลวง

ค่าพิกัดโดยประมาณวัดพระธาตุลำปางหลวง (คลิกลิงค์เปิดโดย Google Map) : 🔗 18.217549, 99.389698

จากถนนหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) เลี้ยวเข้าสู่ถนนหมายเลข 1034 สายเกาะคา-ห้างฉัตร วิ่งตรงมาเจอสามแยกให้เลี้ยวขวาไปทางห้างฉัตร ไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตรจะเจอทางแยกซ้ายมือเข้าสู่เทศบาลตำบลลำปางหลวงวิ่งไปอีก 1.2 กิโลเมตร วัดพระธาตุลำปางหลวงอยู่ทางขวามือ

แผนที่ไปวัดพระธาตุลำปางหลวง


วัดพระธาตุลำปางหลวง

- วัดคู่บ้านคู่เมืองลำปางมาแต่โบราณ

วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นโบราณสถานสำคัญ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณซากเมืองโบราณลัมพกัปปะนคร ตามตำนานกล่าวว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระเถระสามองค์ได้เสด็จจาริกไปตามบ้านเมืองต่าง ๆ จนถึงบ้านลัมภะการีวัน (บ้านลำปางหลวง) พระพุทธเจ้าได้ประทับเหนือดอยม่อนน้อย มีชาวลัวะคนหนึ่งชื่อ ลัวะอ้ายกอน เกิดความเลื่อมใส ได้นำน้ำผึ้งบรรจุกระบอกไม้ป้างมะพร้าว และมะตูมมาถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้ฉันน้ำผึ้งแล้วทิ้งกระบอกไม้ป้างไปทางทิศเหนือ แล้วทรงพยากรณ์ว่า สถานที่แห่งนี้ต่อไปจะมีชื่อว่า ลัมพกัปปะนคร แล้วได้ทรงลูบพระเศียร ได้พระเกศามาหนึ่งเส้น มอบให้แก่ลัวะอ้ายกอน หลังจากนั้นลัวะอ้ายกอนได้นำพระเกศาไปบรรจุในผอบทองคำ และใส่ลงในอุโมงค์พร้อมกับถวาย แก้ว แหวน เงิน ทอง เป็นเครื่องบูชา แล้วแต่งยนต์ผัด (ยนต์หมุน) รักษาไว้ และถมดินให้เรียบเสมอกัน และก่อเป็นพระเจดีย์สูงเจ็ดศอกเหนืออุโมงค์นั้น ในสมัยต่อมาก็ได้มีกษัตริย์เจ้าผู้ครองนครลำปางอีกหลายพระองค์ มาก่อสร้างและบูรณะซ่อมแซม จนกระทั่งเป็นวัดที่มีความงามอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ในทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของวัดพระธาตุลำปางหลวง เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๗๕ นครลำปางว่างจากผู้ครองนคร และเกิดความวุ่นวายขึ้น สมัยนั้นพม่าเรืองอำนาจได้แผ่อิทธิพลปกครองอาณาจักรล้านนาไว้ได้ทั้งหมด พม่าได้ยึดครองนครเชียงใหม่ ลำพูน โดยแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์พม่า ท้าวมหายศ เจ้าผู้ครองนครลำพูนได้ยกกำลังมายึดนครลำปาง โดยได้มาตั้งค่ายอยู่ภายในวัดพระธาตุลำปางหลวง ครั้งนั้น  ” เจ้าทิพย์ช้าง “ เจ้าผู้ครองเขลางค์นคร หรือนครลำปาง เมื่อครั้งนั้นเป็นเพียงแค่พรานป่าชื่อ หนานทิพย์ช้าง ชาวบ้านปงยางคก (ปัจจุบันอยู่อำเภอห้างฉัตร) ซึ่งเป็นวีรบุรุษของชาวลำปาง ได้รวบรวมพลทำการต่อสู้ทัพเจ้ามหายศ โดยลอบเข้ามาในวัด และใช้ปืนยิงท้าวมหายศตาย แล้วตีทัพลำพูนแตกพ่ายไป ปัจจุบันยังปรากฏรอยลูกปืนอยู่บนรั้วทองเหลืองที่ล้อมองค์พระธาตุเจดีย์ ต่อมาหนานทิพย์ช้างได้รับสถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้าทิพย์จักรสุละวะฤๅไชยสงคราม หรือ เจ้าทิพย์ช้าง เจ้าผู้ครองนครลำปาง และเป็นต้นตระกูล ณ ลำปาง, ณ เชียงใหม่, ณ ลำพูน และเชื้อเจ็ดตน
รอยกระสุนปืน ของหนานทิพย์ช้าง วีรบุรุษแห่งนครลำปาง พ.ศ. ๒๒๗๕ หนานทิพย์ช้าง ต้นตระกูล ณ ลำปาง, ณ ลำพูน , ณ เชียงใหม่ และเชื้อเจ็ดตน ยิงท้าวมหายศ แม่ทัพเมืองลำพูน ซึ่งเป็นเมืองของพม่าตายลูกปืนถูกรั้วทองเหลืองตามรอยที่เห็น

หลังจากทราบข้อมูลและประวัติศาสตร์ที่สำคัญของวัดพระธาตุลำปางหลวงแล้ว (ขอขอบคุณข้อมูลจาก wikipedia.org ) เรามาชมสถาปัตยกรรมที่งดงามของวัดพระธาตุลำปางหลวง และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายวัดพระธาตุลำปางหลวง
ประตูโขง เป็นฝีมือช่างหลวงโบราณที่สวยงามก่ออิฐถือปูนทำเป็นซุ้มยอดแหลมเป็นชั้น ๆ มีสี่ทิศ ประดับตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น รูปดอกไม้ และสัตว์ในหิมพานต์ ประตูโขงแห่งนี้ใช้เป็นสัญลักษณ์เมืองลำปางในตราจังหวัดลำปาง
วิหารหลวง เป็นวิหารประธานของวัด ตั้งอยู่บนแนวเดียวกับประตูโขง และองค์พระธาตุเจดีย์ เป็นวิหารจั่วรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทรงวิหารโล่งตามแบบล้านนายุคแรก หลังคาจั่วซ้อนกันเป็นชั้น ๆ
โถงวิหารโล่งตามแบบสถาปัตยกรรมล้านนายุคแรก โดยใช้ไม้สักขนาดใหญ่เป็นโครงสร้าง
ภายในวิหารหลวง เป็นที่ประดิษฐ์ฐาน พระเจ้าล้านทอง พระพุทธรูปองค์สำคัญของวัด ซึ่งอยู่ภายในมณฑป หรือ กู่พระเจ้าล้านทอง กับเจดีย์สีทองอร่ามทรงปราสาทที่สร้างอย่างสวยงาม
พระเจ้าล้านทอง ซึ่งประดิษฐ์ฐานอยู่ภายในมณฑป หรือ กู่พระเจ้าล้านทอง กับเจดีย์สีทองอร่าม

ชมภาพเขียนชาดกโบราณที่ด้านในของแนวคอสอง

องค์พระธาตุเจดีย์ลำปางหลวง เป็นเจดีย์ทรงล้านนา ก่ออิฐถือปูน ประกอบด้วยฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมด้วยบัวมาลัยสามชั้น เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่หุ้มด้วยแผ่นทองเหลือง ฉลุลายหรือที่เรียกว่าทองจังโก ตามตำนานกล่าวว่าเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ


การสักการะ
ต้้งนะโม 3 จบ
ยาปาตุภูตา อะตุลานุภาวา จีรัง ปะติฏฐา ลัมภะกัปปะปุเร เทเวนะ คุตตา อุตตะราภิธัยยา นะมามิ หันตัง วะระชินะธาตุง
กุมาระ กัสสะปะ นะราตะธาตุโย เมฆิยะมะหาเถโร กะนะธาตุง ฐะเปติ มะหาฐาเน เจติยัง ปูชิตา นะระเทเวหิ
อะหัง วันทามิ ธาตุโย

พระธาตุลำปางหลวงถือเป็นพระธาตุประจำปีฉลู เนื่องจากสร้างปีฉลูและเสร็จในปีฉลู ภายในวัดมีเครื่องสักการะสำหรับคนเกิดปีฉลู
วิหารพระพุทธ สร้างขึ้นคู่กับวิหารน้ำแต้ม สันนิษฐานว่าเดิมคงเป็นวิหารโล่ง ได้มีการบูรณะซ่อมแซมภายหลัง ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะ และส่วนสัดที่งดงามมาก
วิหารพระพุทธเป็นวิหารทิศ ตามจักรวาลคติ มีองค์พระธาตุเจดีย์เป็นศูนย์กลาง สร้างขึ้นเป็นวิหารหลังแรกของวัดในปีพ.ศ. 2019 สมัยของพระเจ้าติโลกราช เดิมเป็นวิหารโถงมีฝาย้อยคอยกันแดดและฝน โครงสร้างภายในใช้วิธีการรับน้ำหนักของเครื่องบนแบบขื่อม้าต่างไหมซึ่งเป็นแนวคิดของช่างล้านนา ไม่ปรากฏในพื้นที่อื่นและมีเสาหลวง 10 ต้นแบ่งพื้นที่ภายในเป็น 5 ห้องเมื่อมีการบูรณะในปีพ.ศ. 2345 ได้มีการก่ออิฐขึ้นมาเป็นฝาปิดทึบตามแนวเดียวกับฝาย้อยและกั้นปิดห้องแรกเพิ่มซุ้มประตูขึ้นมา พระประธานในวิหารเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง ปางมารวิชัย ศิลปะแบบสุโขทัย ส่วนที่สวยงามที่สุดของวิหารหลังนี้น่าจะเป็นลายคำ ที่ช่างสมัยนั้นบรรจงสร้างสรรค์ตกแต่งวิหารให้สวยงาม มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น เป็นวิหารลายคำ 1 ใน 3 หลังของวัดพระธาตุลำปางหลวง ลายคำที่เสาหลวงมีร่องรอยของการบูรณะมาแล้วซึงน่าจะทำในคราวเดียวกับการกั้นฝาวิหาร



และวิหารพระพุทธยังปรากฏเงาพระธาตุกลับหัวภายในวิหารอีกด้วย ซึ่งบริเวณนี้สามารถชมได้ทุกเพศทุกวัย



หอพระพุทธ เป็นสถาปัตยกรรมก่ออิฐทรงสี่เหลี่ยม ฐานเจดีย์สร้างครอบรอยพระพุทธบาทไว้ สร้างขึ้นสมัยเจ้าหาญแต่ท้อง เมื่อปี พ.ศ. 1992
ภายในหอพระพุทธสามารถชมปรากฏการณ์เงาพระธาตุและพระวิหารในด้านมุมกลับที่ถือว่าอันซีน(Unseen)ของวัดพระธาตุลำปางหลวงและของจังหวัดลำปาง  แต่มีข้อห้ามที่ไม่ให้ผู้หญิงขึ้น
สำหรับการชมปรากฏการณ์เงาพระธาตุลำปางหลวงสามารถชมได้อีกจุดที่วิหารพระพุทธ ซึ่งบริเวณนี้สามารถชมได้ทุกเพศทุกวัย

วิหารน้ำแต้ม เป็นวิหารบริวารตั้งอยู่ทางทิศเหนือขององค์พระธาตุเจดีย์ เป็นวิหารเครื่องไม้สี่เหลี่ยมผืนผ้า รูปร่างและสัดส่วนงดงาม ภายในคอสองมีภาพเขียนสีโบราณที่เก่าแก่ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริด

กุฏิพระแก้ว เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างเมื่อใด แต่ประมาณอายุไม่ต่ำกว่า ๔๐๐ ปี มาแล้ว

วิหารพระเจ้าศิลา เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าศิลาซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงละโว้ เมื่อ พ.ศ. ๑๒๗๕ พระบิดาของพระนางจามเทวีมอบให้ประดิษฐานไว้ ณ ที่นี้

พิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุลำปางหลวง มีอาคารที่จัดแสดงข้าวของสำคัญของวัดทั้งหมด 3 หลัง
อาคารหลังแรกเป็นอาคารชั้นเดียว ภายในจัดแสดงงานสถาปัตยกรรมไม้แกะหลัก เครื่องไม้จำหลัก สัตตภัณฑ์ อาสนะ

อาคารหลังที่สองหรือหอพระแก้ว เคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วดอนเต้า โถงด้านในสุดเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วดอนเต้าองค์จำลอง พร้อมแท่นบูชาที่มีผู้คนมาสักการะ ด้านข้างจัดแสดงข้าวของต่าง ๆ ที่จัดวางไว้ในตู้กระจก อาทิ ลายพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงเสด็จเยี่ยมพิพิธภัณฑ์ในปี 2507 มูยา(กล้องสูบยาดินเผา) ยอย(ตาชั่ง) เป้ง ตุล(เครื่องชั่ง) เชิงเทียน กำไล เต้าปูน เครื่องทองเหลือง เครื่องเคลือบ

อาคารหลังที่สาม เป็นอาคารคอนกรีตชั้นเดียว โถงตรงกลางเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วดอนเต้าองค์จำลอง ผนังด้านข้างทั้งสองด้านเป็นตู้กระจก ภายในจัดแสดง เครื่องแต่งตัวม้า กังสดาลศิลปะล้านนาอายุ 50-100ปี เศษเครื่องปูนปั้นประดับ พางลางเครื่องทำให้เกิดเสียงใช้แต่งบนหลังวัวม้า เชี่ยนหมาก เครื่องเขินศิลปะล้านนาแบบเมืองเชียงใหม่และแบบพม่า  แอ๊บยา(กล่องใส่ยาเส้น) พิณเปี๊ยะ เครื่องเบญจรงค์ น้ำต้น(คนโท) ดาบ กล้องสูบยา คัมภีร์จารึกอักษรล้านนา จ.ศ.1078-1182  พระพุทธรูปไม้ พระพิมพ์ เป็นต้น

บันไดทางขึ้นด้านหน้าออกแบบเป็นรูปมกรคายพญานาคทั้งสองข้างบันได เชิงบันไดมีรูปสิงห์ปูนปั้นขนาดใหญ่สองตัว สร้างในสมัยพระเจ้าดวงทิพย์ เจ้าผู้ครองนครลำปาง เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๒๓๓๑

ด้านหน้าพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง มีรถม้าไว้บริการด้วย




👀  แนะนำที่กิน ที่เที่ยวจังหวัดลำปาง



 ที่เทียวจังหวัดลำปาง





พระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง Reviewed by ที่เที่ยว on 11:41:00 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

All Rights Reserved by ที่เที่ยวบล็อก © 2014
Powered By Blogger

ฟอร์มรายชื่อติดต่อ

ชื่อ

อีเมล *

ข้อความ *

รูปภาพธีมโดย cmisje. ขับเคลื่อนโดย Blogger.